พระไพศาล วิสาโล
ย้อนหลังไปเมื่อปี 2521 ในหมู่บ้านอันทุรกันดารบนภูแลนคาของจังหวัดชัยภูมิ พระรูปหนึ่งได้จัดตั้งศูนย์เด็กขึ้น เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของชาวบ้านที่ไปทำไร่และหักร้างถางพงไกลหมู่บ้าน ก่อนหน้าที่ท่านจะนำเด็กเล็กมาดูแลและสอนหนังสือในศาลาวัดนั้น เด็กเหล่านี้ต้องตามพ่อแม่ไปทำไร่ ต้องตากแดดตากฝนและป่วยไข้กันมากมาย ท่านสงสารเด็กจึงรับมาเลี้ยงดูในเวลากลางวัน ไม่นานก็ขยายตัวกลายเป็นศูนย์เด็ก นับเป็นศูนย์เด็กแห่งแรกของจังหวัด นับแต่นั้นท่านก็อยู่ในความสนใจของราชการ มิใช่ด้วยความยินดีหรือประทับใจ แต่ด้วยสายตาหวาดระแวง สาเหตุก็เพราะไม่เคยเห็นพระสงฆ์ทำกิจกรรมแบบนี้มาก่อน ที่สำคัญก็คือภูลูกนั้นถือว่าเป็นเขต "สีชมพู" ท่านจึงถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวพันกับคอมมิวนิสต์ นั่นคือจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อันไม่ราบรื่นระหว่างท่านกับราชการ กว่าราชการจะยอมรับท่านก็กินเวลาหลายปี
ทุกวันนี้พระสงฆ์ที่ทำกิจกรรมอย่างหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ มีมากมายทั่วประเทศ เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป โดยที่ฝ่ายรัฐก็ให้ความสนับสนุน แต่น้อยคนจะรู้ว่าเมื่อ ๒๐ ปีก่อนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่พระสงฆ์จะทำงานช่วยเหลือชาวบ้าน พระรูปใดที่ทำเช่นนั้นจะถูกมองด้วยสายตาแปลก ๆ และบ่อยครั้งท่านเหล่านั้นก็พลอยรู้สึกแปลกไปกับเขาด้วย จนบางครั้งรู้สึกท้อ เพราะคิดว่าท่าน "แผลง"ไปอยู่คนเดียว แต่อันที่จริงแล้ว พระสงฆ์ที่ช่วยเหลือชาวบ้าน นอกเหนือจากการเทศนาและประกอบพิธีกรรมนั้น มิได้มีจำนวนน้อย หากมีอยู่หลายแห่ง เป็นแต่กระจัดกระจาย ต่อเมื่อท่านเหล่านั้นได้มาพบกันในการสัมนาหรือการประชุม ดังที่องค์กรอย่างคณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา ได้จัดขึ้น ท่านถึงจะรู้ว่าพระอย่างท่านมีไม่น้อย เมื่อได้พบปะพูดคุยก็เกิดกำลังใจ และอยากจะร่วมมือกันใกล้ชิดขึ้น นี้คือที่มาของกลุ่มเสขิยธรรม ซึ่งแม้จะตั้งเมื่อปี ๒๕๓๓ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์หลายรูปในกลุ่มนี้นั้น ถักทอมานานกว่า ๑๐ปีแล้ว หลวงพ่อนาน สุทธสีโล (พระครูพิพิธประชานาถ) และหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ (พระครูบรรพตสุวรรณกิจ) คือสมาชิกก่อตั้งของกลุ่มเสขิยธรรมที่ไปมาหาสู่กันมานานก่อนที่จะเกิดกลุ่มนี้ขึ้น
กลุ่มเสขิยธรรมมิใช่พระสงฆ์กลุ่มเดียวเท่านั้นที่ทำงานสงเคราะห์ชุมชน พระสงฆ์ที่รวมกลุ่มกันแบบนี้มีมากมายทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อมองโดยรวมแล้วเป็นภาพสะท้อนของปรากฏการณ์อย่างใหม่ของพระสงฆ์ในเมืองไทย กลุ่มเสขิยธรรมมิอาจแยกออกได้จากปรากฎการณ์หรือความเคลื่อนไหวดังกล่าว กล่าวอีกนัยหนึ่ง จะเข้าใจกลุ่มเสขิยธรรมได้ดีขึ้นก็ต่อเมื่อ มองเห็นภาพรวมของพระสงฆ์ที่ทำกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนอยู่ในปัจจุบัน
พระสงฆ์เพื่อสังคม
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เห็นพระสงฆ์เข้าไปมีบทบาทในการสงเคราะห์ช่วยเหลือชุมชนมากขึ้น แทนที่จะจำกัดตัวเองอยู่กับการเทศน์การสอนและการสวดเท่านั้น พระสงฆ์เหล่านี้จำนวนไม่น้อยทำงานสงเคราะห์ชุมชนด้วยความคิดริเริ่มของท่านเอง มิใช่เพราะการชักนำของหน่วยงานรัฐ หรือเพื่อสนองนโยบายรัฐดังบางโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ท่านเหล่านี้ได้พบเห็นความทุกข์ยากเดือดร้อนของชาวบ้านรอบวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากนโยบายการพัฒนาของรัฐที่ไม่เพียงแต่ละเลยภาคชนบทเท่านั้น หากยังเบียดบังทรัพยากรจากชนบทเพื่อนำไปพัฒนาเมืองและภาคอุตสาหกรรม หลายท่านได้เริ่มช่วยเหลือชาวบ้านด้วยกิจกรรมพื้น ๆ เช่น การจัดตั้งศูนย์เด็กในวัด การอบรมเยาวชน ต่อมาก็ขยับขยายไปสู่การช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจหรือความเป็นอยู่ เช่น ทำโครงการฝึกอาชีพ ธนาคารข้าว ธนาคารควาย สหกรณ์ร้านค้า บ้างก็สงเคราะห์ชาวบ้านทางด้านสุขภาพอนามัย เช่น ส่งเสริมการแพทย์พื้นบ้าน ให้คำแนะนำด้านสุขอนามัย หรือรักษาผู้ป่วยเอดส์ ขณะที่หลายท่านส่งเสริมชาวบ้านในเรื่องเกษตรผสมผสาน หรือเกษตรกรรมเพื่อการพึ่งตนเอง
นอกจากนี้ยังมีพระสงฆ์อีกไม่น้อยที่ทำงานรณรงค์ในหมู่บ้านเพื่อให้ปลอดจากอบายมุขและสิ่งเสพติด ความเคลื่อนไหวของพระสงฆ์เหล่านี้ทำให้คำว่า "พระนักพัฒนา" เป็นที่รู้จักแพร่หลายในสังคม รวมทั้งเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานราชการ ในระยะหลังนอกจาก "พระนักพัฒนา" แล้ว ยังมี "พระนักอนุรักษ์" อันเป็นผลสืบเนื่องจากการทำลายป่าอย่างรวดเร็วทั้งโดยถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ทั้งโดยหน่วยงานรัฐและนายทุน การอนุรักษ์ป่าของพระสงฆ์กลุ่มนี้บ่อยครั้งได้นำไปสู่ความขัดแย้งกับราชการซึ่งพยายามผลักดันโครงการต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อป่า เช่น โครงการสร้างเขื่อน โครงการปลูกสวนยูคาลิปตัส
พระสงฆ์เหล่านี้ได้ทำให้สังคมไทยตระหนักว่า พระนั้นไม่ได้มีบทบาทเฉพาะพิธีกรรม หรือในกำแพงวัด อย่างที่เห็นกันโดยทั่วไปเท่านั้น หากท่านยังมีศักยภาพมากกว่านั้น และอันที่จริงบทบาทที่ท่านทำในชุมชนก็มิใช่สิ่งใหม่ จริงอยู่พระสงฆ์ไทยแต่ก่อนย่อมไม่รู้จักธนาคารข้าว ธนาคารควาย แต่เป็นธรรมดามากที่การพัฒนาหมู่บ้านในอดีต เช่นการขุดบ่อน้ำ ตัดถนน สร้างสะพาน จะมีพระสงฆ์เป็นผู้นำ ในฐานะที่ท่านเป็นผู้นำชุมชนควบคู่กับผู้นำทางจิตวิญญาณ แต่บทบาทดังกล่าวได้เลือนหายไปในเวลาต่อมาเนื่องจากมีหน่วยงานของรัฐมาทำหน้าที่แทน พระสงฆ์ที่เรียกว่า พระนักพัฒนา ในปัจจุบัน จึงมิได้ทำอะไรนอกเหนือจากการรื้อฟื้นบทบาททางสังคมของพระสงฆ์กลับมา โดยการปรับปรุงให้สมสมัย
โลกกับธรรมไม่แยกจากกัน
สิ่งหนึ่งที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตก็คือการเข้าไปมีบทบาทในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ต่างจากพระสงฆ์สมัยก่อนที่บทบาทดังกล่าวมีไม่บ่อยนัก ในอดีตวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนอย่างแท้จริง กิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนจัดที่วัด ชาวบ้านจึงเป็นฝ่ายเข้าวัด มากกว่าที่พระจะเป็นฝ่ายออกไปหาชาวบ้าน แต่ปัจจุบัน กิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนเกิดขึ้นนอกวัดเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่พระสงฆ์จำนวนมากยังติดอยู่กับภาพเดิมว่าวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน จึงรอให้ชาวบ้านเข้าวัดแต่ฝ่ายเดียว พระสงฆ์กลุ่มใหม่นี้กลับเป็นฝ่ายออกไปหาชาวบ้าน ในแง่นี้จึงถือได้ว่าเป็นการปรับบทบาทของวัดอย่างสำคัญ
คุณูปการสำคัญอีกประการหนึ่งของพระสงฆ์กลุ่มใหม่นี้ก็คือการชี้ให้เห็นว่าโลกกับธรรมไม่ได้แยกจากกัน ธรรมนั้นไม่ได้อยู่ที่เฉพาะวัด หรือจำกัดเฉพาะการจำศีลหลับตาทำสมาธิเท่านั้น หากยังสามารถปฏิบัติได้ท่ามกลางกิจกรรมทางโลกหรือโดยใช้กิจกรรมทางโลกเป็นสื่อ ดังที่พระสุบิน ปณีโต ผู้นำในการจัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ทั่วจังหวัดตราด ได้ชี้ให้ชาวบ้านเห็นว่า การนำเงินมารวมกันเพื่อให้เพื่อนบ้านที่กำลังเดือดร้อนมีโอกาสกู้เอาไปใช้ก่อน เพื่อลืมตาอ้าปากได้นั้นเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง มิใช่ว่าบุญจะต้องทำที่วัดหรือกับพระเท่านั้น ขณะเดียวกันในการร่วมกิจกรรมดังกล่าว ชาวบ้านยังได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมหรือฝึกฝนตน ในเรื่องของความซื่อสัตย์และความไว้วางใจกัน อันเป็นธรรมที่สำคัญต่อชีวิตและชุมชน ในทำนองเดียวกันพระครูพิพัฒนโชติ ผู้นำจัดตั้งธนาคารชีวิต ซึ่งเป็นกลุ่มออมทรัพย์ในจังหวัดสงขลา ก็ได้ใช้ธรรมเป็นเครื่องประสานกลุ่ม โดยทุกกลุ่มที่ร่วมโครงการดังกล่าว ได้ถือเอาศีล ๕ และธรรมในหมวดมงคล ๓๘ มาเป็นวินัยและหลักการของกลุ่มอีกด้วย โดยมีการประชุมพบปะและทำกิจกรรมของกลุ่ม รวมทั้งการกู้ยืมและฝากเงินกันในวันพระ หลังจากการทำบุญและประกอบพิธีทางศาสนาแล้ว ทำให้วันพระมีความหมายทั้งทางโลกและทางธรรม
พัฒนาการที่ไม่หยุดนิ่ง
การใช้กิจกรรมทางโลกหรือกิจกรรมที่ส่งเสริมความเป็นอยู่มาเป็นสื่อส่งเสริมธรรม และการใช้ธรรมมาเป็นสื่อส่งเสริมส่งเสริมกิจกรรมทางโลก จัดว่าเป็นพัฒนาการที่น่าสนใจของพระสงฆ์กลุ่มใหม่นี้ เนื่องจากแต่เดิมงานพัฒนาชุมชนของพระสงฆ์ส่วนใหญ่ จะเป็นการสงเคราะห์ทางด้านความเป็นอยู่หรือทางวัตถุเป็นหลัก เช่น ฝึกอาชีพ เพิ่มรายได้ พัฒนาสาธารณูปโภคในหมู่บ้าน พระสงฆ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในด้านนี้คือ พระครูสาครสังวรกิจ แห่งจังหวัดสมุทรสาคร แต่ต่อมาข้อจำกัดของการเน้นเฉพาะด้านวัตถุก็ปรากฏชัดเจนมากขึ้น เพราะเมื่อชาวบ้านมีความเป็นอยู่ดีขึ้นแล้ว ความสามัคคีในชุมชนก็ลดลง ต่างคนต่างอยู่มากขึ้น อีกทั้งอบายมุขหรือการหลงติดวัตถุก็จะตามมา กิจกรรมพัฒนาชุมชนที่นำโดยพระสงฆ์ในเวลาต่อมา จึงเริ่มมีการจัดปฏิบัติธรรมควบคู่ไปด้วย ดังที่หลวงพ่อนาน สุทธสีโล หรือพระครูพิพิธประชานาถ แห่งสุรินทร์ ได้นำพาชาวบ้านถือศีลและทำกรรมฐานประจำปี เป็นส่วนเสริมจากการทำสหบาลข้าวและสหกรณ์ร้านค้าในหมู่บ้าน
การพัฒนาจิตใจเป็นกิจกรรมอีกด้านหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในระยะหลัง ซึ่งช่วยให้งานพัฒนาชุมชนของพระสงฆ์เหล่านี้มิได้มีแค่มิติทางสังคมเท่านั้น หากยังมีมิติทางด้านจิตวิญญาณควบคู่ไปด้วย บางท่านจัดสอนสมาธิภาวนาแก่ชาวบ้าน บางท่านนำหลักธรรมบางข้อไปใช้เป็นวินัยข้อปฏิบัติหรือหลักการประจำกลุ่มของชาวบ้าน บางท่านก็ใช้คุณธรรมหรือสำนึกต่อส่วนรวมเป็นเกณฑ์ข้อหนึ่งในการประเมินกิจกรรมกับชาวบ้าน แม้จะเป็นกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจ ก็มิได้วัดจากยอดเงินหรือรายได้เท่านั้น หากยังดูจากความสามัคคี ความเสียสละของชาวบ้านที่เป็นสมาชิกด้วย เป็นต้น
พัฒนาการที่สำคัญอีกประการหนึ่งของพระสงฆ์ที่ทำงานชุมชนก็คือ การส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันและเป็นหลักในการทำกิจกรรมชุมชน พระสงฆ์ที่เรียกว่าพระนักพัฒนารุ่นแรก ๆ นั้น ในการจัดทำโครงการต่าง ๆ ท่านจะเป็นทั้งผู้ตัดสินใจและผู้บริหาร โดยชาวบ้านเป็นเพียงผู้ช่วยสนองงานหรือเป็นฝ่ายรับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว การเป็นผู้นำในลักษณะนี้ทำให้โครงการทั้งหลายขึ้นอยู่กับท่านผู้เดียว โดยชาวบ้านไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นผู้นำได้ ดังนั้นเมื่อท่านเกิดมีอันเป็นไปหรือวางมือ โครงการก็มักสิ้นสุดลง แต่ในระยะหลังมีพระสงฆ์จำนวนมากขึ้น ที่เปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้กระตุ้นชักชวนให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันจัดทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยท่านเป็นเพียงที่ปรึกษา ให้ข้อคิดความเห็นในการทำงาน หรือช่วยประสานให้เกิดความสมานสามัคคีในกลุ่ม ตัวอย่างชัดเจนคือ สภาลานวัดตะโหมด จังหวัดพัทลุง ซึ่งมีพระครูสุนทรกิจจานุโยค เป็นประธาน แต่กิจกรรมต่าง ๆ จัดทำโดยคณะกรรมการซึ่งแบ่งความรับผิดชอบกันเป็นฝ่าย ๆ และมาจากชาวบ้านทั้งหมด ทางภาคเหนือพระครูพิทักษ์นันทคุณแห่งจังหวัดน่านก็เป็นผู้นำในการจัดตั้งกลุ่มฮักเมืองน่าน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากประชาชนหลายฝ่ายทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ โดยพระสงฆ์เป็นเพียงส่วนหนึ่ง
การรวมกลุ่มชาวบ้านในลักษณะนี้นอกจากจะทำให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมมากขึ้น เป็นการแบ่งเบาภาระของพระสงฆ์และทำให้กิจกรรมต่าง ๆ มีความยั่งยืนแล้ว ยังเป็นการศึกษาที่สำคัญสำหรับชาวบ้าน เพราะกระบวนการกลุ่มเอี้อให้ชาวบ้านได้แลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์ ตลอดจนสามารถเรียนรู้จากกันและกันได้มากขึ้น ข้อมูลและความรู้ ๆ ที่เกิดขึ้นจะมิใช่สิ่งที่เหินห่างจากชีวิตและสภาพแวดล้อมของเขา ดังที่ได้รับจากสถาบันการศึกษาหรือสื่อมวลชน หากสามารถนำมาใช้ได้กับความเป็นจริงรอบตัวเขา การเรียนรู้ดังกล่าวเมื่อผนวกกับความไว้วางใจที่เพิ่มพูนขึ้นจากทำกิจกรรมร่วมกัน จะสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวบ้านมากขึ้นในการแก้ปัญหาของชุมชนที่ยากและใหญ่กว่าเดิม นำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน การศึกษาดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องการเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งหมดที่กล่าวมาคือกระแสความเคลื่อนไหวของพระสงฆ์ที่ทำงานสงเคราะห์ชุมชนอยู่ในปัจจุบัน กลุ่มเสขิยธรรมเป็นพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งที่ได้ร่วมอยู่ในกระแสความเคลื่อนไหวดังกล่าวด้วย ในด้านหนึ่งก็ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในอีกด้านหนึ่งก็ได้มีส่วนร่วมในการก่อผลกระทบดังกล่าวด้วย และจะยังคงมีพัฒนาการต่อเนื่องเรื่อยไป สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือจุดมุ่งหมายหรือปณิธาน อันได้แก่การส่งเสริมให้เกิดการฝึกฝนพัฒนาตนและการเกื้อกูลผู้อื่น โดยคำนึงถึงประโยชน์ทั้งสามประการ ได้แก่ประโยชน์ในด้านชีวิตความเป็นอยู่ (ทิฏฐธัมมิกัตถะ) ประโยชน์ในด้านจิตใจ (สัมปรายิกัตถะ) และประโยชน์ที่เป็นอิสรภาพขั้นสูงสุด (ปรมัตถะ)
Last Updated (Tuesday, 04 January 2011 07:45)