การที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้ก่อตั้งสวนโมกขพลารามขึ้น เป็นอารามอันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้น นับเป็นก้าวใหม่ของพุทธศาสนาไทย หรือของโลกก็ว่าได้ ที่มีการหวนกลับไปหารากเหง้าของศาสนาซึ่งพระบรมศาสดาก่อตั้งไว้ ถือเป็นการโยงคันถธุระกับวิปัสสนาธุระเข้ามาหากัน อย่างไม่ยึดติดกับรูปแบบพิธีกรรม เมื่อท่านละสังขารไป จึงเปรียบดังดวงประทีปแห่งเถรวาทได้ดับลงอีกดวงหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม แม้ร่างกายท่านจะหนีไม่พ้นกฎพระไตรลักษณ์ แต่ข้อคิด งานเขียนก็ยังคงเป็นอมตธรรม เช่น งานชุดธรรมโฆษณ์ของพุทธทาส ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่สุด ที่ท่านตั้งใจแสวงหาเพชรจากพระไตรปิฎก มาสื่อกับคนร่วมสมัย เพื่อลดตัวกู–ของกู ให้เกิดสันติสุขในชีวิต และสันติภาพในสังคม
แต่สังคมไทยมักลืมง่าย เพียง ๑๐ ปีแห่งมรณกรรมของพุทธทาสภิกขุผ่านพ้นไป ความทรงจำเกี่ยวกับท่านก็เริ่มเลือนหายไป จากมโนสำนึกของคนไทยร่วมสมัย กระทั่งวันหนึ่ง โดยแนวโน้มเช่นนี้ และหากไม่มีการศึกษาคำสอนของท่านอย่างจริงจัง ก็อาจจะไม่เหลืออะไรให้อนุชนได้รำลึกถึงเอาเลยก็ว่าได้
ด้วยเหตุนี้ จำเป็นอยู่เองที่เราจะต้องร่วมกันกระตุ้นเตือน ให้มีการรำลึกถึงคุณูปการของท่าน เป็นปฏิบัติบูชา และอาจาริยบูชา ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็ถือเป็นโอกาสนำธรรมะของท่าน มาศึกษาและประยุกต์ใช้ให้สมสมัย เพื่อต่อสู้กับโรคทางจิตวิญญาณ ที่นับวันจะรุมเร้าจนเราแทบไม่มีพื้นที่ให้ถอยร่นได้อีกต่อไปแล้ว
ประกอบกับในปี ๒๕๔๙ ที่ถึงนี้ จะมีการฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาลของท่าน เสมสิกขาลัย อาศรมวงศ์สนิท กลุ่มเสขิยธรรม เครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย มูลนิธิโกมลคีมทอง และกลุ่มพุทธทาสศึกษา จึงจัดให้มีโครงการศึกษาสนทนาธรรมจากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ขึ้น เพื่อร่วมระลึกถึงคุณูปการของท่าน ตลอดจนร่วมสืบสานปณิธานของท่าน ให้มีผลการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
๑. เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนแนวคิด และแบ่งปันประสบการณ์ จากการศึกษาหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ของพุทธทาสภิกขุ กระทั่งสามารถประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิต และสังคมร่วมสมัย
โดยจัดให้มีการเสวนาจำนวน ๑๘ ครั้งในสองปี มีผู้เข้าร่วมประมาณ ๒๕ คนต่อครั้ง
๒. เพื่อเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ นำไปสู่การพัฒนาคน ตลอดจนประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในระดับปัจเจก และการเคลื่อนไหวทางสังคม
๓. เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้จากการเสวนาแต่ละครั้ง เผยแพร่สู่สาธารณชน ด้วยสื่อประเภทต่าง ๆ เช่น สิ่งพิมพ์ สื่ออีเล็คทรอนิค เครือข่ายอินเตอร์เน็ต และแถบบันทึกเสียง เป็นต้น
๔. เพื่อสืบทอดปณิธานทั้ง ๓ ประการของพุทธทาสภิกขุคือ
–ให้ศาสนิกชนเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตน อันเป็นเหตุแห่งสันติสุขส่วนบุคคลและสันติภาพของสังคม
–ให้มนุษย์เห็นทุกข์เห็นโทษของความลุ่มหลงมัวเมาในวัตถุ อันเป็นเหตุแห่งวิกฤตการณ์ในโลก
–ให้เกิดความร่วมมือระหว่างศาสนา เพื่อเยียวยาความทุกข์ของมนุษย์ และนำโลกสู่สันติภาพ
พระภิกษุ–สามเณร, อุบาสก–อุบาสิกา ที่สนใจทั่วไปโดยมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน จำนวนไม่เกิน ๒๕ คนต่อครั้ง
มกราคม ๒๕๔๗ ถึง ธันวาคม ๒๕๔๘
- ปี ๒๕๔๗ จัดสองเดือนต่อครั้ง รวมเป็น ๖ ครั้งต่อปี
- ปี ๒๕๔๘ จัดเดือนละหนึ่งครั้ง รวมเป็น ๑๒ ครั้งต่อปี
รวมกิจกรรมทั้งหมด ๑๘ ครั้ง ภายในระยะเวลา ๒ ปี
- พระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ จนฺทสโร)
- พระไพศาล วิสาโล
- พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ
- สุลักษณ์ ศิวรักษ์
- ประชา หุตานุวัตร
- กลุ่มพุทธทาสศึกษา
- กลุ่มเสขิยธรรม
- เสมสิกขาลัย
- อาศรมวงศ์สนิท
- เครือข่ายพุทธิกาเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม
- มูลนิธิโกมลคีมทอง
- สวนโมกขพลาราม
- สำนักพิมพ์สุขภาพใจ
- บริษัท แปลนพับลิชชิ่ง จำกัด
ปีที่ ๑ (มกราคม – ธันวาคม ๒๕๔๗)
|
ปีที่ ๒ ครึ่งแรก (มกราคม – มิถุนายน ๒๕๔๘)
|
ปีที่ ๒ ครึ่งหลัง (กรกฎาคม–ธันวาคม ๒๕๔๘)
|
วันเสาร์
๐๘.๐๐ – ๐๙.๐๐ น. ลงทะเบียน
๐๙.๐๐ – ๑๑.๓๐ น. แนะนำตัวสมาธิภาวนา บรรยายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์
๑๑.๓๐ – ๑๓.๓๐ น. อาหารกลางวัน และพักผ่อนตามอัธยาศัย
๑๓.๓๐ – ๑๖.๓๐ น. บรรยายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์
๑๗.๐๐ – ๑๘.๐๐ น. อบสมุนไพร
๑๘.๐๐ – ๑๙.๓๐ น. อาหารเย็น
๑๙.๓๐ – ๒๑.๓๐ น. สวดมนต์ สมาธิภาวนา และสนทนาธรรม
๒๑.๓๐ น. พักผ่อน
วันอาทิตย์
๐๔.๓๐ – ๐๕.๐๐ น. ตื่นนอนทำกิจธุระส่วนตัว
๐๕.๐๐ – ๐๖.๓๐ น. สวดมนต์ สมาธิภาวนา
๐๖.๓๐ – ๐๗.๓๐ น. โยคะ
๐๗.๓๐ – ๐๘.๓๐ น. อาหารเช้า
๐๙.๐๐ – ๑๑.๓๐ น. สมาธิภาวนา บรรยายและซักถามแลกเปลี่ยนประสบการณ์
๑๑.๓๐ – ๑๓.๓๐ น.อาหารกลางวัน และพักผ่อนตามอัธยาศัย
๑๓.๓๐ – ๑๖.๓๐ น.บรรยายและซักถาม-แลกเปลี่ยนประสบการณ์
๑๖.๓๐ น. เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ
หมายเหตุ
- กรุณาสมัครหรือยืนยันการเข้าร่วมเริ่มกิจกรรมอย่างน้อย ๑ สัปดาห์
- ควรเตรียมเครื่องใช้ส่วนตัว ร่ม ยากันยุง และยาประจำตัวมาด้วย
- การแต่งกายอยู่ในชุดที่สุภาพ
- เตรียมเสื้อยืด กางเกงวอร์มสำหรับเล่นโยคะ ผ้าขาวม้าและผ้าถุงสำหรับอบสมุนไพรมาด้วย
สอบถามรายละเอียดได้ที่
นายสมบัติ ทารัก ผู้ประสานงานโครงการ
อาศรมวงศ์สนิท ตู้ปณ.๑ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ๒๖๑๒๐
โทรศัพท์ ๐๑-๗๑๕๖๘๔๓, ๐๓๗-๓๓๓๑๘๓-๔ โทรสาร ๐๓๗-๓๓๓๑๘๔
อีเมล
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it