กว่า ๔ ทศวรรษมาแล้ว ที่ผลพวงแห่งการพัฒนาประเทศให้มีความทันสมัย (ซึ่งเน้นเฉพาะความเจริญทางวัตถุ) ได้ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ เช่น ความอ่อนแอของชุมชนรากหญ้า ความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ ความเสื่อมทางศีลธรรมและวัฒนธรรม ตลอดจนความอ่อนแอทางจริยธรรม และสติปัญญาของสังคม เป็นต้น ซึ่งนับวันจะมีความซับซ้อน รุนแรง และยากที่จะเยียวยา
ขณะเดียวกัน สถาบันสงฆ์ก็ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐ และกระแสทุนนิยมบริโภค ทั้งยังขาดการตรวจสอบดูแลซึ่งกันและกัน ระหว่างคฤหัสถ์กับบรรพชิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับชุมชน หรือสังคม จึงทำให้สถาบันสงฆ์เสื่อมโทรม และนับวันจะอ่อนแอยิ่งขึ้น กระทั่งบัดนี้อาจเรียกได้ว่า คณะสงฆ์ได้สูญเสียบทบาทในการเป็นผู้นำทางสติปัญญา และจิตวิญญาณของสังคมไปแล้วอย่างสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤตการณ์ดังกล่าว ยังมีพระภิกษุสงฆ์และแม่ชีอีกจำนวนหนึ่ง ที่ยังคงทำหน้าที่สาวกตามแนวทางพระบรมศาสดา ด้วยการเป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจและสติปัญญา ให้กับชุมชนและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง
หลายท่านพำนักอยู่ในชนบทห่างไกล ทำงานร่วมกับชาวบ้านและชุมชน สร้างความเข้มแข็ง และพึ่งพิงตนเองได้ ให้กับชุมชนรากหญ้า อาทิ พระครูพิพิธประชานาถ (หลวงพ่อนาน) พระครูสุภาจารวัฒน์ พระครูเกษมธรรมรังษี (หลวงพ่อดำ) พระครูบรรพตสุวรรณกิจ (หลวงพ่อคำเขียน) และพระครูพิทักษ์นันทคุณ เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีหลายท่านที่ทำงานด้านวิชาการ เผยแผ่และชี้นำ ตลอดจนเสนอแนะทางออกจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ภายใต้กรอบคิด หลักการ และแนวทางแห่งศาสนธรรม เช่น พระศรีปริยัติโมลี พระมหาเจิม สุวโจ พระโกศิล ปริปุณฺโณ และพระไพศาล วิสาโล เป็นต้น
ท่านดังกล่าวนี้ และเพื่อนภิกษุ – แม่ชีอีกหลายรูป ยังคงทำงานหลากหลาย เช่น การสร้างรากฐานของเศรษฐกิจชุมชน การอนุรักษ์ป่า และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ตลอดจนจัดการศึกษาเพื่อชุมชนที่ดีงาม การอบรมจิตใจ และการส่งเสริมการแพทย์พื้นบ้าน อยู่ทั้งในชุมชนเมืองและในชนบท
ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา (ศพพ.) องค์กรภายใต้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ–นาคะประทีป ได้อาราธนาพระสงฆ์ที่กล่าวถึงหลายรูป มาประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานช่วยเหลือสังคม และยังถือเป็นโอกาสให้ท่านได้เจริญสมาธิภาวนาร่วมกัน อันจะเป็นการเกื้อกูลกำลังใจต่อกันและกันได้ในโอกาสต่อไป
ในการณ์นี้ หลายท่านเห็นพ้องว่า พระสงฆ์ที่ทำงานในลักษณะนี้ ควรรวมตัวเป็น “เครือข่าย” เพื่อเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน อันจะทำให้งานประยุกต์ใช้หลักศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม มีความยั่งยืน และสามารถเป็นร่มเงาให้กับสังคมต่อไป จึงได้พร้อมใจกันก่อตั้ง ”กลุ่มเสขิยธรรม” ขึ้น ด้วยจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ ส่งเสริมการประยุกต์ใช้หลักศาสนธรรมให้เกื้อหนุนต่อการพัฒนาตนเอง สังคม และธรรมชาติ ให้ก้าวพ้นวิกฤตการณ์ทั้งหลายอย่างเป็นรูปธรรมและสมสมัย และนอกจากจะเกื้อกูลระหว่างนักบวชชาย – หญิงแล้ว ก็ควรขยายผลไปสู่สังคมวงกว้างด้วย ดังที่ระยะต่อมา “กลุ่มเสขิยธรรม” ได้เปิดรับสมาชิกทั้งที่เป็นพระสงฆ์ สามเณร แม่ชี และอุบาสกอุบาสิกา
นอกจากสิกขาบทในพระวินัยแล้ว กลุ่มเสขิยธรรมยังมีข้อวัตรที่ถือปฏิบัติร่วมกัน ได้แก่ การหลีกเลี่ยงวิถีชีวิตที่สมคล้อยไปกับวิถีทุนนิยม – บริโภคนิยม งดเว้นอาหารขยะ การเสพ – บริโภค หรือข้องเกี่ยวกับ บุหรี่ เครื่องดื่มชูกำลัง (ผสมคาเฟอีน) น้ำอัดลม และ ลด – ละ – เลิก การใช้ภาชนะพลาสติก – โฟม ตลอดจนการใช้สินค้าฟุ่มเฟือย อันไม่เหมาะกับการเจริญสันตุฏฐีธรรม และสมณสารูป เป็นต้น
คณะกรรมการดำเนินงาน (ชุดปัจจุบัน)
พระสมบูรณ์ สุมงฺคโลประธานกรรมการ
พระมหาจรูญโรจน์ กวิวํโส รองประธาน
พระมหานิคม คุณะสัมปันโน รองประธาน
พระมหาพงศ์นรินทร์ ฐิตวํโส กรรมการ
พระสังคม ธนปัญโญ กรรมการ
พระภาณุวัฒน์ จิตตทนโต กรรมการ
แม่ชีชูใจ ปทุมนันท์ กรรมการ
แม่ชีสุบิน ผลไม้ กรรมการ
พระวินย์ สิริวฑฺฒโนกรรมการ/เลขานุการ
ผู้มีความสนใจ ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
ฝ่ายประสานงานกลุ่มเสขิยธรรม
เสขิยธรรม
บ้านจิตอาสา ชั้น ๔
๒๐๔๔/๒๑ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่
บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพฯ ๑๐๓๑๐
Email:
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it
โทรศัพท์ : ๐๒-๓๑๙-๕๐๑๗, ๐๘๐-๔๔๖-๗๙๑๘ โทรสาร ๐๒-๓๑๙-๕๐๑๙
...พูดถึงกลุ่ม “เสขิยธรรม” ชื่อก็ตรงอยู่แล้ว เสขิยธรรม นั้นตัวศัพท์เอง หมายถึง ข้อปฏิบัติที่เรียกกันว่า เสขิยวัตร นั่นแหละ ในพระไตรปิฎก ท่านเรียก เสขิวัตรว่า “เสขิยา ธมฺมา” อย่างในบทสวด ปาติโมกข์ สรุปว่า “...เสขิยา ธมฺมา นิฏฺ€ิตา...”
เสขิยธรรม แปลว่า ธรรมที่พึงศึกษาหรือต้องศึกษา แม้ว่าจะหมายถึง เสขิยวัตร แต่ตัวศัพท์เองมีความหมายกว้าง คือแปลว่าสิ่งที่จะต้องศึกษา ซึ่งหมายถึงอะไรก็ตาม ที่จะต้องเรียนรู้ฝึกหัดเพื่อพัฒนาทำชีวิตให้ดีงามขึ้น รวมเข้าใน “ไตรสิกขา” ทั้งสามด้าน ทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา...
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)
“เสมือนบทนำ” เสขิยธรรม ฉบับที่ ๔๒ ปีที่ ๙ กันยายน – ธันวาคม ๒๕๔๒ หน้า ๓
วัตถุประสงค์
1.เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและปฏิบัติธรรม ตลอดจนการวิจัย และการแสวงหาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง
2.เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้หลักศาสนธรรม และพิธีกรรม กับ ชีวิต และสังคม ตลอดจนธรรมชาติ อย่างสมสมัย
3.เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน กลุ่ม และเครือข่ายนักบวชชายหญิง ตลอดจนความร่วมมือระหว่างพุทธบริษัท
4.เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และประสานความร่วมมือระหว่างศาสนา
5.เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนสงฆ์ ชุมชนพุทธบริษัท ตลอดจนแสวงหาและพัฒนาความเป็น “อาราม” อันสมสมัย
6. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมด้านสันติภาพ สันติวิธี และการเคลื่อนไหวทางสังคม อันอิงอาศัยหลักศาสนธรรม และคัดค้านวัตถุนิยม – บริโภคนิยม
แนวทาง
1.จัดกระบวนการเรียนรู้ ให้การศึกษา และฝึกอบรม แก่สมาชิก และผู้สนใจ
2.แสวงหาความร่วมมือกับกลุ่ม – องค์กร ต่าง ๆ
3.ใช้สื่อ และจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่แนวคิด ตลอดจนแลกเปลี่ยน และเรียนรู้ กับกลุ่มเป้าหมายระดับต่าง ๆ ในชุมชน และสังคม
4.ร่วมการเคลื่อนไหวทางสังคมอันเป็นรากฐานให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของกลุ่มฯ
เป้าหมาย
ประยุกต์ใช้หลักศาสนธรรมและพิธีกรรม กับชีวิต สังคม และธรรมชาติ อย่างสมสมัย ด้วยความร่วมมือระหว่างพุทธบริษัท และศาสนิกจากศาสนาอื่น ๆ ตลอดจนผู้รักสันติภาพ และไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง เพื่อความสมานฉันท์ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้ออกจากวิกฤตการณ์แห่งทุนนิยม – บริโภคนิยม
Last Updated (Wednesday, 23 April 2014 07:32)